คาถาบูชาหลวงปู่ทวด

รูปปั้นหลวงปู่ทวด วัดห้วยมงคล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

คาถาบูชาหลวงปู่ทวด

ตั้งนะโม ๓ จบ
นะโม  โพธิสัตโต  อาคันติมายะ  อิติ  ภะคะวา.

สมเด็จเจ้าพระราชมุนีสามีรามคุณูปรมาจารย์

วัดช้างไห้  จังหวัดปัตตานี

     หลวงปู่ทวด หรือสมเด็จเจ้าพะโคะ มีนามตามสมณศักดิ์เต็มๆ ว่า “สมเด็จเจ้าพระราชมุนีสามีรามคุณูปรมาจารย์” เป็นพระภิกษุที่มีตำนานกล่าวถึงประวัติไว้ยาวนานที่สุดของประเทศไทย

     ตามประวัติที่พิมพ์เผยแพร่กล่าวไว้ว่า ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์รูปสำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยา ท่านเป็นบุตรของนายหู กับนางจันทร์ ซึ่งเป็นทาสในเรือนเบี้ย (ทาสทำงานใช้หนี้) ของเศรษฐีปาน เกิดในรัชกาลของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เมื่อวันที่ ๓  มีนาคม พ.ศ. ๒๑๒๕ ณ บ้านสวนจันทร์ (บ้านเลียบ) ต.ดีหลวง (ปัจจุบันเป็นตำบลชุมพล) อ.สทิงพระ จ.สงขลา แรกเกิดมีชื่อว่าปู ขณะท่านเกิดมีเหตุอัศจรรย์คือเกิดฟ้าร้องฟ้าผ่าแผ่นดินสะเทือนเลื่อนลั่น เสมือนหนึ่งว่ามีผู้มีบุญญาธิการมาเกิด เมื่อตัดรกจากสายสะดือแล้ว นายหูบิดาของท่านก็นำรกของท่านไปฝังไว้ที่โคนต้นเลียบ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ต้นเลียบในปัจจุบัน

     ขณะที่ท่านอยู่ในวัยแบเบาะ ในช่วงฤดูเกี่ยวข้าวบิดามารดาของท่านต้องออกไปเกี่ยวข้าวที่กลางทุ่งนาซึ่งเป็นนาของเศรษฐีปาน ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 2 กิโลเมตร ที่นาแห่งนั้นมีต้นมะเม่าขึ้นเป็นจำนวนมากจึงเรียกว่าทุ่งเม่า (ปัจจุบันตั้งเป็นสำนักสงฆ์ชื่อนาเปล) บิดามารดาของท่านจึงผูกเปลผ้าไว้กับต้นมะเม่าสองต้น กล่อมลูกน้อยนอนหลับแล้วจึงลงไปเกี่ยวข้าว พอได้เวลาต้องให้นมลูกนางจันทร์ผู้เป็นมารดาจึงกลับมาที่เปลลูกน้อย และฉับพลันนางจันทร์ก็ตกใจแทบสิ้นสติเพราะนางได้เห็นงูจงอางตัวใหญ่มาพันที่รอบเปลลูกน้อย จึงเรียกสามีมาดูและช่วยไล่นั้นไป แต่ไล่อย่างไรก็นั้นก็ไม่ไป สองสามีภรรยาจึงตั้งสัตยาธิฐานว่า ขออย่าให้งูนั้นทำร้ายลูกน้อยเลย ไม่นานนักงูจงอางนั้นก็คลายวงรัดออกและเลื้อยหายไปในป่า

     เมื่องูเลื้อยจากไปแล้ว สองสามีภรรยาจึงเข้าไปดูลูกน้อยเห็นว่ายังหลับอยู่และไม่เป็นอันตรายใดๆ และพบว่าที่หน้าอกของลูกชายนั้นมีเมือกแก้วขนาดใหญ่ที่งูจงอางคาย เมือกแก้วนั้นมีแสงแวววาวและต่อมาได้แข็งตัวเป็นลูกแก้ว ปัจจุบันได้ประดิษฐานที่วัดพะโคะ

     เศรษฐีปานเมื่อทราบเรื่องเข้าก็บังคับให้สองสามีภรรยามอบลูกแก้วให้แก่ตน ซึ่งทั้งสอบก็ยอมมอบให้ด้วยความจำยอม ด้วยความที่เขาเป็นนายตนเป็นทาส แต่ด้วยความที่ลูกแก้วนั้นเป็นของศักดิ์สิทธิ์เฉพาะบุคคล เมื่อเศรษฐีปานนำไปครอบครองก็เกิดเภทภัยให้คนในครอบครัวเจ็บป่วยและมีเหตุให้ต้องเสียทรัพย์สินเงินทอง จนกลายเป็นคนขัดสนยากจนลง เศรษฐีปานจึงได้เอาลูกแก้วมาคืนและขอขมาเด็กชายปู และยกหนี้สินให้แก่สองสามีภรรยา ทำให้ทั้งสองพ้นจากความเป็นทาส และมีฐานะดีขึ้นตามลำดับ ส่วนเศรษฐีปานก็มีฐานะดีกลับดีขึ้นดังเดิม

     เด็กชายปูเจริญวัยได้ ๗ ขวบ บิดามารดาจึงนำท่านไปฝากไว้กับท่านสมภารจวงที่วัดใกล้บ้านเพื่อเรียนหนังสือ เด็กชายปูเป็นเด็กที่หัวดีเรียนเก่งสามารถเล่าเรียนภาษาขอมและภาษาไทยได้อย่างรวดเร็ว สมภารจวงได้บวชให้ท่านเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ ๑๕ ปี และนำตัวสามเณรไปฝากไว้กับสมเด็จพระชินเสน เจ้าอาวาสวัดสีคูยังหรือวัดสีหยังในปัจจุบัน ห่างจากวัดดีหลวงไปทางเหนือประมาณ 4 กิโลเมตร สามเณรปูได้เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและจบหลักสูตรที่วัดสีคูยังนั้น หลังจากนั้นจึงได้เดินทางเข้ามาศึกษาต่อที่เมืองนครศรีธรรมราชเพื่อเรียนหนังสือให้สูงขึ้นโดยมาพำนักอยู่ที่วัดเสมาเมือง ซึ่งเป็นสำนักเรียนและมีสมเด็จพระมหาปิยะทัสสีเป็นเจ้าอาวาส

      กระทั่งมีอายุครบอุปสมบท สามเณรปูจึงได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นภิกษุที่วัดนี้ หลังจากอุปสมบทแล้วท่านได้เสาะแสวงหาศึกษาวิชาการจากครูบาอาจารย์ต่างๆ มาก มาย จนมีความรู้แตกฉานทั้งทางด้านปริยัติและปฏิบัติ สามารถแสดงฤทธิ์ปาฏิหาริย์ให้ประจักษ์แก่ผู้พบเห็นในหลายๆ ครั้ง อาทิครั้งหนึ่ง ท่านโดยสารเรือไปกับพ่อค้า ถูกโจรปล้นเรือ น้ำดื่มเกิดหมดไม่มีน้ำดื่ม ท่านได้ใช้เท้าเหยียบที่น้ำทะเล ทำให้ทะเลบริเวณนั้นกลายเป็นน้ำจืด ช่วยเหลือพวกโจรและลูกเรือให้รอดชีวิตมาได้ ซึ่งเป็นที่มาของฉายาว่า “หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด”

&     หลวงปู่ทวดได้รับพระราชทานสมณศักดิ์จากสมเด็จพระเอกาทศรถ ในตำแหน่งสูงสุดในราชทินนามที่ “สมเด็จเจ้าพระราชมุนีสามีรามคุณูปรมาจารย์”

     เมื่อท่านมีอายุได้ 80 ปี ท่านได้กลับมาจำพรรษาที่วัดพะโคะ วัดบ้านเกิดของท่าน ต่อมาท่านได้สั่งเสียกับลูกศิษย์ว่าเมื่อท่านมรณภาพให้นำศพท่านไปไว้ที่วัดช้างไห้ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ต่อไปสถานที่ข้างหน้าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ให้คนมาเที่ยว

หลวงปู่ทวด ได้ละสังขารด้วยโรคชราในปลายรัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๒๕ ที่เมืองไทรบุรี สิริอายุได้ ๑๐๐ ปี พรรษา ๘๐